วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

คือ องค์ความรู้ของกลุ่มบุคคลท้องถิ่น และรวมถึงงานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ภูมิปัญญาฯ ประเภทองค์ความรู้ของกลุ่มบุคคลท้องถิ่น เช่น การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การผลิตผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ หิน โลหะ แก้ว เซรามิค ดินเผา เครื่องหนัง และอื่นๆ

2. ภูมิปัญญาฯ ประเภทงานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น เรื่องเล่าพื้นบ้าน กวีนิพนธ์พื้นบ้าน ปริศนา พื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน การฟ้อนรำพื้นบ้าน ละครพื้นบ้าน จิตกรรมพื้นบ้าน ประติมากรรมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้าน เครื่องแต่งกายพื้นบ้าน และสิ่งทอพื้นบ้าน

ภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถแบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่

- องค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น (Traditional Knowledge) หมายถึง องค์ความรู้ วิธีการ ทักษะ นวัตกรรม แนวปฏิบัติ หรือการเรียนรู้ที่เป็นผลมาจากกิจกรรมทางปัญญาในรูปแบบดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น มีการสืบทอดและพัฒนาจากรุ่นอดีตสู่รุ่นปัจจุบัน ผ่านกาลเวลา เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำไวน์กระชายดำ การทำมีดอรัญญิก การทอผ้าไหม เป็นต้น

- การแสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน (Expression of Folklore) หมายถึง การแสดงออกซึ่งองค์ความรู้และวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่แสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งปรากฏหรือแสดงให้เห็นในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงออกทางวาจา (เช่น ตำนาน กวีนิพนธ์ ปริศนา เรื่องเล่า) การแสดงออกทางดนตรี (เช่น เพลง ดนตรี)การแสดงออกทางกาย (เช่น การเต้น การแสดงละคร พิธีกรรม)การแสดงออกในสิ่งที่จับต้องได้ (เช่น งานศิลปะ รวมถึง ภาพวาด งานจิตกรรม) เป็นต้น

- ทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resource) หมายความรวมถึง ทรัพยากรพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสิ่งมีชีวิต หรือองค์ประกอบที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตของระบบนิเวศ ซึ่งมีประโยชน์หรือคุณค่าตามความเป็นจริงและตามศักยภาพ เช่น พืชสมุนไพรประจำท้องถิ่นที่สามารถนำมาผลิตยารักษาโรคต่าง ๆ ได้ เป็นต้น

ในอดีตประเทศต่าง ๆ มุ่งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมใหม่ ให้การคุ้มครองการสร้างสรรค์ใหม่ และพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาเล็งเห็นว่า องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมักถูกนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่เสมอ และไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งความรู้ดั้งเดิมอยู่มาก อาทิ ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค การนวดเพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ซึ่งมีใช้ในชีวิตประจำวันในบางชุมชน ตลอดจนพันธุ์พืชดั้งเดิมที่พบในไทยและสามารถนำไปพัฒนาเกิดพันธุ์ใหม่ เป็นต้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น